Writing SoP

นักเรียนไทยหลายคนมีความฝันที่จะได้ไปศึกษาต่อต่างประเทศหรือเข้าเรียนในหลักสูตรนานาชาติในประเทศ แต่การจะประสบความสำเร็จดังที่หวังนั้นก็ต้องเกิดจากการทุ่มเท ขยันหมั่นเพียรศึกษา และค้นคว้าหาข้อมูล เพื่อให้มีเกรดเฉลี่ยสะสมที่น่าพึงพอใจ มีคะแนนสอบภาษาอังกฤษ เช่น TOEFL หรือ IELTS คะแนนสอบจำพวกอื่นที่สูงเพียงพอ มีจดหมายแนะนำตัว (letter of recommendation) จากอาจารย์หรือเจ้านายที่ดี ส่วนประกอบเหล่านี้ทำหน้าที่แสดงตัวตนและความสามารถของคุณให้มหาวิทยาลัยในฝันของคุณได้รู้จักตัวตนของคุณ สร้างความมั่นใจว่าคุณเหมาะสมที่จะได้เข้าเรียนและคุณจะมีโอกาสสูงที่จะประสบความสำเร็จในชีวิตการศึกษา

แม้ว่าคนส่วนใหญ่จะทุ่มเทและให้ความสำคัญกับปัจจัยต่าง ๆ เหล่านี้เป็นอย่างมาก คุณไม่สามารถควบคุมมันได้สมบูรณ์ ในทางกลับกันหลายคนอาจให้ความสำคัญกับ statement of purpose (หรือในชื่ออื่น ๆ เช่น letter of motivation, personal letter) น้อยกว่า เพราะคนไทยเราคุ้นเคยเฉพาะกับระบบที่ใช้ตัวเลขคะแนนสูงต่ำเป็นตัวตัดสินการรับเข้าศึกษาต่อ แต่ในความเป็นจริงนั้น มหาวิทยาลัยทั่วโลกให้ความสำคัญกับ statement of purpose เป็นอย่างมาก เพราะนี่คือข้อความที่คุณอธิบายตัวตนของคุณเอง เป็นการทำให้ผู้ประเมินได้เห็นภาพว่าคุณนั้นมีลักษณะบุคลิกภาพและความสามารถเช่นไร ซึ่งใครจะเข้าใจตัวเราได้ดีไปกว่าตัวเราเอง

statement of purpose นี้หากถูกเขียนมาอย่างดีแล้ว ก็จะบอกเล่าอะไรได้ดีกว่าตัวเลขอย่างเกรดหรือคะแนนสอบมากมายนัก และที่สำคัญคุณมีเวลาไม่จำกัดในการคิดว่าจะเขียนอะไร ว่าจะบอกเล่าอะไร ในระหว่างลงมือเขียนคุณก็สามารถแก้ไขปรับปรุงได้เรื่อย ๆ จนกว่าคุณจะพอใจ

สำหรับคนไทยหลาย ๆ คน คงรู้สึกเหมือน ๆ กันเวลาเริ่มต้นเขียน statement of purpose ว่าไม่รู้จะเริ่มต้นตรงไหนดี ไม่รู้ว่าต้องเขียนอะไรบ้าง เขียนอย่างไรถึงจะโดดเด่น น่าสนใจ ทำให้มหาวิทยาลัยรับเข้าเรียน อีกอย่างเรื่องการเขียนเรียงความภาษาอังกฤษ (essay) คนส่วนใหญ่ก็รู้สึกว่ายากมากเพราะไม่เคยเขียนมาก่อน หรือได้รับการฝึกฝนมาน้อย ดังนั้นลองมาทำความเข้าใจดูก่อนนะครับว่าเราควรเขียนอะไรลงไปบ้างและคณะกรรมการที่จะเป็นผู้อ่านคาดหวังอะไรจากเราบ้าง

สำหรับบางหลักสูตรหรือบางมหาวิทยาลัยจะมีการระบุชัดเจนว่าใน statement of purpose ผู้สมัครจะต้องเขียนอะไรบ้าง ตอบคำถามอะไรบ้าง อันนี้ก็อาจจะช่วยให้หลาย ๆ คนมั่นใจขึ้นว่า ได้เขียนสิ่งที่ผู้อ่านต้องการรับทราบจริง ๆ อย่างไรก็ตามมหาวิทยาลัยส่วนใหญ่มักไม่ได้ระบุชัดเจนลงไปว่าจะต้องเขียนอะไรบ้างเพียงแต่บอกกรอบกว้าง ๆ ไว้ เพื่อให้ผู้สมัครตัดสินใจเองว่าจะนำเสนอตัวตนในแง่มุมไหนบ้าง โดยที่เนื้อหาสำคัญที่เป็นหัวใจของการเขียน statement of purpose ควรมีนั้นมีอยู่สองประการ

ความเป็นคุณ

หมายความว่าเมื่ออ่าน statement of purpose ของคุณจบแล้ว ผู้อ่านสามารถจินตนาการภาพได้ว่าคุณเป็นคนอย่างไร มีลักษณะนิสัย ความคิดอ่านเช่นไร เคยมีประสบการณ์อะไรมาบ้าง และวางแผนการดำเนินชีวิตในอนาคตต่อไปอย่างไร ผู้อ่านจะเห็นภาพต่าง ๆ เหล่านี้ได้จากการบอกเล่าของคุณ คุณอาจเลือกเล่าเกี่ยวกับชีวิตการศึกษา หรือชีวิตการทำงาน พร้อมบอกความรู้สึกไปด้วยว่าชอบไม่ชอบ หรือสิ่งเหล่านี้ให้ข้อคิดอะไรแก่ชีวิตคุณ คุณอาจเลือกเล่าเหตุการณ์ที่แม้ว่าคนอื่นอาจคิดว่าไม่สำคัญ แต่มันยิ่งใหญ่ต่อชีวิตและความคิดอ่านของคุณ เช่น การได้เรียนกับครูที่คุณประทับใจมากจนคุณตัดสินใจว่าโตขึ้นจะต้องเป็นครูให้ได้ หรือเล่าว่าทำไมคุณจึงตัดสินใจเปลี่ยนมาเรียนการตลาด ทั้งที่พื้นฐานเดิมคุณเป็นวิศวกรโยธา

คุณไม่จำเป็นต้องจำกัดเนื้อหาที่คุณต้องการเล่าให้อยู่เฉพาะเรื่องการเรียนหรือการทำงาน หากการเล่าถึงงานอดิเรก สิ่งที่คุณสนใจเป็นพิเศษ กิจกรรมนอกห้องเรียน กิจกรรมเพื่อสาธารณประโยชน์ สามารถอธิบายตัวตนของคุณได้ชัดเจนสมบูรณ์ยิ่งขึ้น เช่นคุณอาจเป็นนักกีฬามหาวิทยาลัย ซึ่งแสดงว่าคุณมีทักษะทางกีฬา คุณอาจชอบทำงานค่ายอาสาหรือชมรมในมหาวิทยาลัย ซึ่งแสดงว่าคุณมีทักษะการทำงานร่วมกับผู้อื่นและทักษะความเป็นผู้นำ หรือคุณอาจบอกเล่าว่าคุณมีความสุขเมื่อได้ทำงานอาสาช่วยเหลือผู้พิการและเด็กด้อยโอกาส

นอกจากส่วนที่คุณบอกเล่าโดยตรงแล้ว ผู้อ่าน (ซึ่งอาจเป็นเจ้าของภาษา) ยังสามารถเห็นถึงบุคลิกภาพของคุณได้จากการใช้ภาษาของคุณ ว่าคุณเป็นคนที่มีความมั่นใจในตัวเองสูง หรือถ่อมตน ว่าคุณเป็นคนตรงไปตรงมา หรืออ่อนหวาน ว่าคุณเป็นคนช่างคิดวิเคราะห์ สามารถแสดงความคิดเห็นได้เป็นระบบระเบียบหรือไม่ ในกรณีที่ผู้อ่านพบเห็นความผิดพลาดในการใช้ภาษาหลายจุด ไม่ว่าจะเป็นด้านไวยากรณ์ การใช้คำศัพท์ หรือโครงสร้างของงานเขียน จนทำให้อ่านไม่เข้าใจ หรือเข้าใจผิดไปจากที่คุณต้องการนำเสนอ ผู้อ่านก็จะมองคุณในแง่ลบทันที แม้ว่าทั้งที่จริง ๆ คุณจะมีความสามารถด้านอื่น ๆ สูงก็ตาม ดังนั้นการใช้ภาษาอังกฤษให้ถูกต้องและสละสลวยจึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง

คุณเหมาะสม

หมายถึงคุณต้องสามารถตอบได้ว่าคุณเลือกที่จะสมัครหลักสูตรนั้น ๆ เพราะเหตุผลอะไร ทำไมคุณจึงเหมาะที่จะเรียนที่นี่ แล้วทำไมคุณควรได้รับโอกาสให้เรียนที่นี่ด้วย

ขั้นแรกคุณต้องรู้ตัวเองก่อนว่าคุณจะเรียนหลักสูตรดังกล่าวไปเพื่ออะไร มันจะช่วยทำให้ความใฝ่ฝันหรือแผนการของคุณในอนาคตเป็นจริงได้อย่างไร ทั้งนี้คุณต้องศึกษาตัวหลักสูตรเป็นอย่างดี ขอแนะนำให้คุณหาข้อมูลให้ครบถ้วนก่อนจะตัดสินใจสมัคร ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบการเรียนการสอน คณาจารย์ งานวิจัย สภาพสังคมสิ่งแวดล้อมของมหาวิทยาลัย ความมีชื่อเสียง ค่าเล่าเรียนและการสนับสนุนเงินทุนในรูปแบบต่าง ๆ แล้วเปรียบเทียบกับความต้องการของคุณ ตัวอย่างเช่น คุณต้องการเรียนในหลักสูตรที่มีทั้งการเรียนการสอน และเน้นการทำวิจัยด้วย คุณก็ควรเลือกสมัครไปยังที่ที่ให้เวลาและน้ำหนักกับหน่วยกิตของการวิจัยสูง อีกตัวอย่างเช่น หลักสูตรดังกล่าวมีกลุ่มที่ทำวิจัยในหัวข้อที่คุณสนใจทำมาก ๆ และงานวิจัยแขนงดังกล่าวจะมีประโยชน์อย่างยิ่งต่อการพัฒนาประเทศ ถ้าปัจจัยต่าง ๆ เหล่านี้สอดคล้องกับความต้องการของคุณ คุณจะสามารถอธิบายว่าหลักสูตรเหมาะกับตัวคุณได้อย่างสบายและมีพลัง

ในทางกลับกันคุณก็ต้องแสดงให้เห็นด้วยว่าตัวคุณเหมาะสมกับหลักสูตร ไม่ว่าจะเป็นความรู้พื้นฐานที่เพียงพอต่อการเรียนต่อ ความมุ่งมั่นตั้งใจในการศึกษาหาความรู้หรือการทำวิจัย ข้อมูลเหล่านี้ส่วนหนึ่งคณะกรรมการอาจเห็นได้จากผลการเรียน ผลการสอบ และ curriculum vitae ของคุณอยู่แล้ว จึงไม่จำเป็นต้องนำมากล่าวซ้ำ คุณอาจแสดงออกว่าคุณมีความรู้หรือความสนใจในสาขาที่คุณอยากเรียน หรืออยากทำงานวิจัย โดยการวิพากษ์วิจารณ์ แสดงความคิดเห็น หรือวิเคราะห์เรื่องที่กำลังเป็นที่สนใจในสาขาวิชานั้น ๆ โดยมีการใช้ข้อมูล หลักวิชา และคำศัพท์เฉพาะทางที่ถูกต้องเหมาะสม

เมื่อคุณทราบแล้วว่าคุณต้องสื่ออะไรให้แก่ผู้อ่านบ้าง คุณก็สามารถเริ่มทำร่างหัวข้อขึ้นมาว่าคุณจะเขียนอะไรบ้าง แล้วจัดโครงสร้างของงานเขียนว่าจะเรียงอย่างไรให้น่าสนใจ อ่านแล้วเข้าใจง่าย ไม่สับสน ทีนี้คุณก็เริ่มลงมือเขียน statement of purpose ได้แล้ว แต่ยังมีสิ่งสำคัญที่คุณควรพึงระลึกไว้ตลอดการเขียน statement of purpose ไว้อีกดังนี้

ภาษาเหมาะสม

หลายคนคุ้นกับภาษาอังกฤษในลักษณะภาษาพูดมากกว่าภาษาเขียน อาจเป็นเพราะการชมภาพยนต์ต่างประเทศ จึงติดการใช้คำพูดหรือสำนวนพูดมาใช้ในงานเขียน ซึ่งอาจไม่เหมาะสมสำหรับการเขียน statement of purpose โดยเฉพาะการใช้คำย่อ หรือคำแสลง คุณควรใช้ภาษาเขียนที่เป็นภาษาสุภาพ คุณสามารถใช้ภาษากึ่งทางการได้ ไม่จำเป็นต้องใช้ศัพท์สูงศัพท์วิชาการเหมือนเขียนตำราวิชาการ เพราะการเขียนแบบนั้นจะไม่แสดงออกถึงตัวตนของคุณ หลายครั้งที่มีคนพยายามใช้คำศัพท์ยาก ๆ เพื่อจะแสดงว่าตนมีความรู้ทางภาษาดี ทั้งที่ไม่เข้าใจความหมายและรูปแบบการใช้ศัพท์นั้น ๆ อย่างถ่องแท้ แล้วจึงใช้ไปผิด ๆ เมื่อเจ้าของภาษาอ่านดูก็จะไม่เข้าใจ เข้าใจผิด หรือเห็นว่าตลกเสียอีก และทำให้โอกาสที่คุณจะได้ที่นั่งในมหาวิทยาลัยลดลงโดยไม่รู้ตัว ดังนั้นการใช้ภาษาให้เหมาะสมจึงมีความสำคัญยิ่ง

ภาษาถูกต้อง

เรื่องนี้เป็นอุปสรรคใหญ่ของผู้ที่ไม่ชำนาญการเขียนภาษาอังกฤษ แม้ว่าโปรแกรมเขียนสมัยใหม่จะมี spelling checker มาช่วยเตือนผู้ใช้ว่ามีการสะกดผิด แต่ปัญหาที่ยังคงอยู่คือเรื่องโครงสร้างและไวยากรณ์ การเรียงลำดับโครงสร้าง การใช้คำเชื่อมต่าง ๆ ที่ไม่เหมาะสม ไม่สอดคล้องต่อเนื่องกันนั้นก็จะทำให้อ่านเข้าใจยาก และไม่น่าจดจำ

ภาษาไทยนั้นมีหลักไวยากรณ์ที่แตกต่างจากภาษาอังกฤษมาก เช่น ไม่มีการใช้ tense ที่หลากหลายเหมือนภาษาอังกฤษ ทำให้คุณอาจไม่แน่ใจว่าควรใช้อย่างไร หรือเผลอใช้ผิดใช้ถูกโดยตัวเองก็ไม่ได้สังเกต การใช้ tense ที่ถูกต้องจะทำให้การเล่าเรื่องของเรามีมิติ มีก่อนมีหลัง มีที่มาที่ไป ทำให้ผู้อ่านเข้าใจเรื่องราวเหตุการณ์ได้ถูกต้อง ลดความกำกวมของภาษา กลับกันถ้าเราใช้ tense ผิด ๆ ถูก ๆ ก็จะทำให้เกิดความสับสนแก่ผู้อ่านที่เป็นเจ้าของภาษา

ปัญหาอีกประการที่เห็นได้บ่อยจากงานเขียนของคนไทยคือคิดข้อความขึ้นเป็นภาษาไทยก่อนแล้วจึงแปลเป็นภาษาอังกฤษ ถ้าเป็นคนไทยด้วยกันอ่านก็อาจจะเข้าใจได้ว่าผู้เขียนต้องการสื่อสารอะไร แต่กับชาวต่างชาติที่ไม่รู้ภาษาไทยอ่านแล้วจะไม่เข้าใจเพราะไม่เคยได้ยินสำนวนภาษาแบบนี้มาก่อน การใช้ภาษาที่ผิดอย่างชัดเจนจะบ่งบอกว่าผู้สมัครให้ความสำคัญกับ statement of purpose น้อย หรือไม่ใส่ใจกับการสมัคร เพราะผู้เขียนไม่ได้ถูกจำกัดเวลาเขียน ไม่มีข้อจำกัดในการตรวจทานแก้ไข และจะทำให้คณะกรรมการประเมินคุณในทางลบ

กระชับ ได้ใจความ

หลาย ๆ แห่งกำหนดว่าผู้สมัครจะต้องเขียน statement of purpose กี่หน้าหรือกี่คำ โดยส่วนใหญ่แล้วจะนิยมเขียนยาวประมาณหนึ่งถึงสองหน้าเท่านั้น นี่คือความท้าทายของการเขียน statement of purpose เพราะคุณจะต้องคิดว่าจะทำอย่างไรให้สามารถเล่าสิ่งต่าง ๆ ที่คุณได้ทำมาและอยากทำต่อไปในชีวิตคุณ ในเนื้อที่เพียงแค่หน้าสองหน้า ได้อย่างมีประสิทธิภาพ หลาย ๆ คนอาจมีปัญหาในช่วงเริ่มเขียนว่าไม่รู้จะเขียนอะไร แต่ท้ายที่สุดบางทีกลับกลายเป็นปัญหาว่าจะตัดอะไรทิ้งบ้างเก็บอะไรไว้ดีบ้าง

สิ่งสำคัญอีกประการที่คุณควรระลึกถึงคือ คณะกรรมการรับสมัครอาจต้องอ่าน statement of purpose จำนวนเป็นหลายร้อยฉบับ สำหรับที่นั่งที่รับได้จริงไม่กี่สิบ ผู้ทรงคุณวุฒิเหล่านี้ไม่ต้องการเสียเวลาอ่านข้อความยาวเยียดที่ไม่มีสาระ พวกเขาอยากอ่านข้อความที่กระชับได้ใจความมากกว่า ในการอ่าน statement of purpose จำนวนมาก ๆ นั้นเป็นการยากที่จะจดจำเนื้อหน้าที่ได้อ่านไปได้ครบถ้วน จึงเป็นความท้าทายของผู้สมัครที่จะสามารถเขียน statement of purpose ที่มีเอกลักษณ์ของตนเองและตอบโจทย์ทุกข้อที่คณะกรรมาการต้องการทราบได้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์และน่าประทับใจ

เมื่อคุณได้เขียน statement of purpose เสร็จเรียบร้อยแล้ว สิ่งต่อมาที่ควรทำคือการตรวจแก้ สิ่งที่ต้องดูคือเรื่องภาษา ทั้งการใช้คำและไวยากรณ์ให้ถูกต้อง และเนื้อหาว่าอ่านเข้าใจง่าย และตรงประเด็น

ปกติถ้าหากคุณตรวจแก้เลยหลังจากที่เพิ่งเขียนเสร็จใหม่ ๆ คุณจะไม่เห็นที่ผิดหรือข้อบกพร่องของงานเขียนของตัวคุณเองเลย ขอแนะนำให้คุณลองพยายามไม่ใส่ใจ statement of purpose สักหลาย ๆ วัน อาจไปเตรียมเอกสารการสมัครอื่น ๆ แทน แล้วให้คุณลองกลับมาอ่าน statement of purpose ของคุณใหม่อีกรอบ คุณอาจพบที่ผิดหลายจุด หรือคุณอาจรู้สึกว่าเนื้อหาบางส่วนควรจะถูกแก้ไข

นอกจากนี้แล้ว ถ้าเป็นไปได้ คุณควรขอให้ผู้อื่น (อาจทั้งที่รู้จักตัวคุณดี หรือไม่ได้สนิทกับคุณ) อ่าน statement of purpose ของคุณ แล้วสอบถามว่าอ่านเข้าใจหรือไม่ อ่านแล้วรู้สึกอย่างไร อ่านแล้วตัวเนื้อหาบอกเล่าอธิบายตัวคุณได้ถูกต้องดีแค่ไหน ท้ายที่สุดจะดีที่สุด ถ้าสามารถผู้อ่านที่มีความรู้ภาษาอังกฤษดี มาช่วยวิเคราะห์และแนะนำแก้ไขข้อบกพร่องของ statement of purpose ของคุณ คุณอาจใช้บริการกับ KandoWriting ซึ่งเรายินดีจะประเมินและปรับปรุงคุณภาพ statement of purpose ของคุณด้วยความใส่ใจ

ภาพประกอบใน Banner: Tumisu/Pixabay