Writing Résumé and CV

ไม่ว่าจะเป็นคนที่กำลังสมัครงาน หรือนักเรียนนักศึกษาที่ต้องการสมัครเรียนต่อ ก็คงสนใจอยากรู้ว่าการเขียน résumé หรือ curriculum vitae (เรียกย่อ ๆ ว่า CV) นั้นเขียนกันอย่างไร ควรใส่ข้อมูลอะไรบ้าง ทำอย่างไรจึงจะได้ résumé ที่เป็นมืออาชีพ เพื่อทำให้การสมัครงานหรือสมัครเรียนประสบความสำเร็จ

résumé นั้นเป็นสรุปประวัติ ประสบการณ์การเรียน การทำงาน ทักษะความรู้ความสามารถ ของแต่ละบุคคลอย่างย่อ ๆ โดยมักมีความยาวหนึ่งหน้าเท่านั้น ทั้งนี้เพื่อเป็นข้อมูลในการรับสมัครเข้าทำงานหรือศึกษาต่อ résumé ที่ดีนั้นจะต้องบ่งบอกได้ว่าผู้สมัครมีทักษะความรู้ความสามารถตรงกับที่บริษัทหรือสถานศึกษาต้องการ และให้ความเชื่อมั่นได้คุณจะเป็นตัวเลือกที่ดี

Résumé ที่ดีนั้นหน้าตาควรเป็นอย่างไร?

ขอให้ลองนึกภาพการรับสมัครงานในตำแหน่งงานดี ๆ ที่มีผู้สนใจสมัครเป็นจำนวนมาก ต่างคนก็ต่างต้องการให้ข้อมูลแก่บริษัทว่าตนเองนั้นมีความสามารถสูงและควรถูกเลือก โดยส่งเอกสารประกอบการพิจารณาเข้าไปมากมาย ในทางปฏิบัติเป็นไปได้ยากที่จะมีการพิจารณาคุณสมบัติของผู้สมัครทุกคนอย่างละเอียดถี่ถ้วน ในเบื้องต้นจะต้องมีการคัดกรองเอาเฉพาะผู้สมัครที่มีคุณสมบัติเหมาะสมและโดดเด่นไว้เพื่อพิจารณาสัมภาษณ์ต่อไป ในขั้นตอนนี้ résumé จะมีบทบาทสำคัญมาก ดังนั้นเนื้อหาใน résumé ที่ถูกจำกัดรูปแบบให้มีความยาวเพียงหนึ่งหน้ากระดาษ ต้องสามารถบ่งบอกความสามารถที่ผู้สมัครมีได้ตรงกับสิ่งที่บริษัทค้นหาอยู่ได้ชัดเจน และต้องแสดงให้เห็นว่าผู้สมัครคนนั้นโดดเด่นกว่าผู้สมัครคนอื่น ๆ เนื้อหาที่ไม่มีความเกี่ยวข้องและรายละเอียดปลีกย่อยจึงไม่ควรอยู่ใน résumé

ในหลาย ๆ กรณีที่คุณวุฒิทางการศึกษาหรือประสบการณ์ทำงานของผู้สมัครหลาย ๆ คนใกล้เคียงกันมาก การให้ความสำคัญในการเตรียมเอกสารอย่าง résumé กลับมีผลสำคัญขึ้นมา เช่น การใช้ภาษาเขียนได้อย่างถูกต้องเหมาะสม โดยเฉพาะกับ résumé ที่เป็นภาษาอังกฤษ สำหรับการสมัครเข้าทำงานกับบริษัทนานาชาติหรือตำแหน่งงานที่ภาษาอังกฤษเป็นคุณสมบัติสำคัญ หรือแม้กระทั่งการจัดเรียงรูปหน้า résumé ให้อ่านง่าย เป็นระเบียบสะอาดสะอ้าน ก็อาจบ่งชี้ได้ว่าคุณมีทักษะการทำงานอย่างมืออาชีพ ดังนั้นในการเขียน résumé การจัดวางรูปหน้าจึงมีความสำคัญไม่แพ้เนื้อหา

ในกรณีของนักเรียนนักศึกษาที่กำลังต้องการสมัครเรียนต่อ แม้ปัจจัยหลักในการตัดสินการรับเข้าเรียนจะเป็นเรื่องของผลการเรียนและคะแนนสอบข้อสอบมาตรฐานต่าง ๆ résumé หรือ curriculum vitae ก็นับเป็นเอกสารสำคัญที่ให้ข้อมูลเสริมนอกเหนือไปจากข้อมูลการศึกษาทั่ว ๆ ไป ข้อมูลเพิ่มเติมเหล่านี้มีความสำคัญไม่น้อยเลยทีเดียว โดยเฉพาะกับการสมัครเรียนต่อยังต่างประเทศ ซึ่งในหลาย ๆ ประเทศไม่ได้ถือเอาแค่ตัวเลขเกรดและคะแนนเป็นตัวชี้วัดความเหมาะสมของผู้สมัครเรียน คณะกรรมการรับสมัครต้องการรู้จักตัวตนของผู้สมัครแต่ละคน ซึ่งข้อมูลเหล่านี้สามารถถูกบรรจุใน résumé ได้ ยกตัวอย่างเช่น การทำกิจกรรมนอกห้องเรียน ไม่ว่าจะเป็นการทำงานกลุ่ม ชมรม การเล่นกีฬา ดนตรี การแข่งขันทางวิชาการ ทั้งที่ได้รางวัลและไม่ได้รางวัล การทำงานเพื่อส่วนรวม การทำงานอดิเรกต่าง ๆ เหล่านี้ล้วนบ่งชี้ว่าผู้สมัครเป็นคนอย่างสมบูรณ์ มิได้จำกัดตัวเองอยู่กับแค่การเรียนหนังสือในห้องเรียน

ควรใส่อะไรใน résumé บ้าง?

คำถามนี้ไม่มีคำตอบตายตัว แต่โดยทั่วไปข้อมูลที่ควรมีมีดังนี้

✙ จุดประสงค์ของการสมัคร ส่วนนี้เป็นส่วนที่คุณเขียนบอกสั้น ๆ ว่า คุณต้องการทำอะไร โดยเขียนอย่างเด็ดขาด ไม่กำกวม และแสดงถึงความเข้าใจในวิชาชีพ เช่น "ผมต้องการงานบริหารในแผนกที่ดูแลงานพัฒนาซอฟต์แวร์โดยตรง ในบริษัทซอฟต์แวร์ขนาดใหญ่ที่จับตลาดเล็ก ๆ อย่างกลุ่มนักวิทยาศาสตร์ และให้โอกาสในการเรียนรู้การบริหารโครงการที่เกี่ยวข้องกับการประมวลผลแบบขนาน" เป็นต้น

ประวัติส่วนตัวอย่างย่อ ๆ ได้แก่ ชื่อ นามสกุล ข้อมูลสำหรับติดต่อ เช่น ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ เบอร์โทรศัพท์มือถือ และที่อยู่อีเมล์ ข้อมูลนอกเหนือจากนี้คุณอาจเพิ่มเติมลงไปได้ตามความเหมาะสม

ประวัติการเรียนและประสบการณ์การทำงาน บางคนอาจเขียนสองส่วนนี้ต่อเนื่องกันในหัวข้อเดียว หรือเขียนแยกกันชัดเจนก็ได้ ข้อมูลส่วนนี้นิยมเขียนเรียงตามลำดับเวลา โดยให้สิ่งที่ทำล่าสุดอยู่บนสุดแล้วเรียงไปหาสิ่งที่ทำในอดีต

✒︎ ประวัติการเรียนนั้นจะสรุป ปีที่จบการศึกษา วุฒิที่ได้รับ และชื่อสถาบันการศึกษา นอกเหนือจากนั้น โดยเฉพาะในกรณีสมัครเรียนต่อ อาจเพิ่มข้อมูลเช่น เกรดเฉลี่ย หัวข้อวิทยานิพนธ์และชื่ออาจารย์ที่ปรึกษา รวมถึงกิจกรรมทางการศึกษาที่น่าสนใจอื่น ๆ เข้าไปประกอบด้วย

✒︎ ประสบการณ์การทำงานนั้นควรมีเนื้อหาคือ ช่วงเวลาที่ทำงาน ตำแหน่งงาน ชื่อบริษัท หากรายละเอียดย่อยในเนื้องานที่ทำ เช่นภาระหน้าที่หรือโปรเจ็กต์งานที่เคยได้ดำเนินการ จะแสดงถึงประสบการณ์และทักษาเฉพาะที่คุณมี และจะเป็นที่สนใจของบริษัทที่รับสมัครงานอยู่ คุณก็สามารถแจกแจงรายละเอียดส่วนนี้เพิ่มเติมได้ แต่ก็พึงระวัง อย่าให้ résumé ดูเยิ่นเย้อ ไม่กระชับ หากเลือกเขียนข้อมูลส่วนนี้เป็นประโยค ควรใช้ active voice เพื่อเน้นว่าสิ่งต่าง ๆ เรานี้คุณเป็นผู้กระทำ

รางวัลและความสำเร็จ ไม่ว่าจะเป็นจากการแข่งขันต่าง ๆ สำหรับนักเรียนนักศึกษา การได้รับทุนการศึกษา ทุนวิจัย การได้รับตำแหน่งพนักงานดีเด่น ฯลฯ

ทักษะ ส่วนนี้มีความสำคัญมากให้ทางปฏิบัติ เพราะผู้ว่าจ้างต้องการลูกจ้างที่ทำงานเป็นจริง ๆ ทักษะที่เป็นที่ต้องการมากในปัจจุบันได้แก่ทักษะทางคอมพิวเตอร์ ซึ่งคุณควรระบุว่าคุณใช้โปรแกรมอะไรเป็นบ้าง และอีกทักษะคือด้านภาษา โดยเฉพาะภาษาอังกฤษในระดับที่ใช้ติดต่อสื่อสารได้จริง

อื่น ๆ เช่น งานอดิเรก กิจกรรมนอกห้องเรียน ผลงานวิจัย งานตีพิมพ์

ภาพประกอบใน Banner: StockSnap/Pixabay